เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ ยากรึง่ายกว่าเล่นงานเล็กๆและเล่นผับอย่างไรบ้าง

ผมเองเคยเล่นเวทีใหญ่มาแล้วหลายครั้งทั้งคอนเสิร์ตศิลปิน ประสบการณ์เล่นใน impact และสนามกีฬา เลยอยากแชร์ประสบการณ์สำหรับคนที่จะต้องเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆเวทียักษ์ๆเป็นครั้งแรกนะครับ โดยเฉพาะทีม Rhythm อย่างกีต้าร์, คีย์บอร์ด ที่มักต้องเป็นคนเริ่มต้นเพลงในเพลงไทยหลายเพลง

image
สมัยก่อนจดเพลงและคิวต่างๆบนกระดาษ พอไฟมืดปั๊ปมองไม่เห็นอะไรเลยครับ สมัยนี้ดีหน่อยเตรียมบน iPad ได้ (ภาพโดย คุณต้น @kktp )

ปัญหาด้าน Level ความดังของเสียงที่ใช้ เมื่อตัวแปรด้านเสียงเปลี่ยน

เสียงจากการเล่นในห้องซ้อมหรือเล่นในผับเล็กๆนั้นเราสามารถได้ยินเสียงตัวเองไปพร้อมๆกับเสียงคนอื่นที่ชัดเจน เสียงที่ได้ยินเลยเป็นเสียงที่ผู้ฟังได้ยิน เพราะลำโพง PA มักอยู่ใกล้และสะท้อนเสียงจากผนังมาอย่างชัดเจนไม่มีดีเลย์ ทำให้เข้าใจลักษณะเสียงในมุมมองผู้ฟังได้ง่ายในกรณีที่่ลำโพง PA mixing engineer ทำดีๆ (ซึ่งคนที่เล่นยากจากการถูก PA กวนก็มีเหมือนกันเช่นมือเบสเพราะเสียงเบสมักรั่วจากลำโพงหลักมาบนเวทีทำให้ล้นเกินไปและบางคนที่ทำงานร่วมกับ Sound Engineer เก่งๆก็บอกว่าเล่น Live Out door นี่ง่ายนะ เพราะลำโพง PA อยู่ไกล ไม่กวนก็มี)

แต่คอนเสิร์ตจริงตัวแปรมีมาก เพราะเราไม่ได้ยินเสียง final mix ที่ออกจากหน้าลำโพงไปหาผู้ฟังจึงบาล้านส์เสียงเองโดยขึ้นกับ condition ของลำโพงมอนิเตอร์ใกล้ตัวเท่านั้น เช่นโดยมากนักดนตรีเล่นดังขึ้นเพราะขณะเล่นจริงนักดนตรีมักจะสนุกและมั่นใจขึ้นกว่าตอน sound check หรือมีตัวแปรคนดูกรี๊ดกร๊าดขึ้นมากลบเสียงมอนิเตอร์บนเวที การเปลี่ยนระดับเสียงของนักดนตรีเพียงคนเดียวจะมีผลทั้งวง ซึ่งถ้าวงมีสมาชิกเยอะ ตัวแปรตรงนี้ยิ่งมากครับ ตัวอย่างเช่นถ้ามือกีต้าร์เกิดรู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่ค่อยได้ยินไปปรับให้ดังขึ้น มือคีย์บอร์ดเลยปรับดังขึ้นด้วย Brass section รู้สึกว่าคนอื่นดังตัวเองไม่ได้ยินก็เป่าใกล้ไมค์มากขึ้น ผลคือเสียงทั้งวงแย่ไปเลย

ปัญหาด้าน Level ตอนขึ้นต้นเพลงของมือกีต้าร์และคีย์บอร์ด

คีย์บอร์ดและกีต้าร์ มักจะเป็นคนขึ้นต้นเพลงหลายเพลงในเพลงไทย ในคอนเสิร์ตจริงเรามักจะทดลองกดเสียงก่อนเริ่มเพลงได้ลำบาก เพราะสคริปส่วนใหญ่ให้เงียบก่อนเริ่มเล่นอยู่แล้ว (โดยเฉพาะที่ถ่ายทอดสดออกทีวี) ทำให้มือคีย์บอร์ดซึ่งบางครั้งมีอุปกรณ์ต่อพ่วงและ Layer ที่ซับซ้อนมีความไม่แน่ใจว่าเสียงที่กดมีความดังขนาดไหนขณะเริ่มต้นเพลง สิ่งนี้ค่อนข้างซีเรียสเพราะเสียงจะไปถูกภาคขยายเข้าสู่ลำโพงใหญ่จึงมีผลมากกว่าการเล่นคอนเสิร์ตเล็กๆ ดังนั้นมือคีย์บอร์ดควรจดจำเลเวลของเพลงแต่ละเพลงด้วยว่าปรับโวลุ่มแต่ละเสียงไว้ระดับใดแทนที่จะจำ patch เสียงอย่างเดียวครับ เช่น เพลงที่เจ็ด เปียโนความดัง 50%, string 25% master volumn 70% เป็นต้น (ถ้ามี submix ด้วยก็ต้องระวังถ้ามีกรณีที่ต้องปรับขึ้นมา)

ตัวผมเองเรื่องนี้บางทีเป็นปัญหาเพราะผมใช้ Volumn เท้าเป็นแบบ Expression ด้วย การเปลี่ยน preset เสียงเวลาหมดเพลงๆหนึ่งจะทำให้ความดังของเสียงแต่ละอันกลับเข้าสู่ค่า default ทั้งที่ Volumn เท้าได้ถูกกดไว้แล้วแต่ต้องกด sweep volumn เท้าเพื่อล้าง default 1 ครั้ง ดังนั้นอาจแก้ปัญหาด้วยการเล่นคอร์ดแรกโดยไม่พึ่งความดังของเสียงที่ปรับด้วยระบบ Expression ก่อนโดยเซ้ทไว้ที่ค่า 0 ครับ

ปัญหาอีกอย่าง (ที่อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับซาวส์เอ็นจ์บางท่าน) คือ dynamic ระหว่างเล่นครับ ผมเองเป็นมือคีย์บอร์ดที่ใช้เปียโนไฟฟ้าอย่าง RD700 เวลาออกคอนเสิร์ตครั้งแรกซาวส์เอนจ์มาคอมเม้นท์ว่า Dynamic วูบวาบเกินไป คือช่วงเล่นเบากับเล่นดัง(เพราะอารมณ์สนุก)ต่างกันเกินไป ประกอบกับเสียงหนาทำให้บริหาร Headroom ของ Systems ได้ลำบาก มือคีย์บอร์ดรุ่นพี่อย่างพี่สมิธรได้บอกกับผมว่าซาวส์เอ็นจ์ส่วนใหญ่ชอบมือคีย์บอร์ดที่เล่น dynamics สม่ำเสมอมากกว่า เล่นคลุมๆไปทั้งเพลงประมาณนี้ครับ

ปัญหาด้านการสื่อสารบนเวที และการแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน

The Show must go on เวลาเล่นงานเล็กๆ เราสามารถหันไปคุยกับเพื่อนเพื่อตกลงกันได้เมื่อเกิดปัญหา เช่นนักร้องลืมท่อนต้องเล่นต่ออีก 8 bar หรือมีการผิดคิวเล็กน้อยเพราะมีคนขึ้นมาบนเวที หรือเสียงโซโล่ไม่ออกทำให้ต้องแก้ไขกัน แต่เวทีใหญ่ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะนักดนตรีอยู่ไกลกันมากและมีกล้อง VDO จับจ้องการกระทำต่างๆอยู่ ดังนั้นควรมีการทำความเข้าใจกันก่อนหรือรู้นิสัยของคนเล่นในระดับหนึ่งครับ การซ้อมค่อนข้างมีความสำคัญมากเพราะทำให้เรามั่นใจในสิ่งที่จะเล่นต่อไปและรู้ว่าตรงไหนมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาได้ แม้ว่าวง iHear จะไม่ค่อยซ้อมเวลาเล่นงานเล็กเพราะเราสนุกกับการด้นสด แต่พองานใหญ่นั้นเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องซ้อมคิวครับ

ปัญหาด้านการไม่ได้ยินลำโพง monitor และ monitor เสียงเปลี่ยนไปจากเดิม

จากประสบการณ์จะพบว่า แทบไม่มีคอนเสิร์ตไหนที่ซาวส์จากลำโพงมอนิเตอร์ จะเหมือนกับตอนที่ Sound Check ไปแล้วเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่นอารมณ์การเล่น, acoustic เปลี่ยนเพราะมีการซับเสียงสะท้อนเนื่องจากมีคนดูเป็นจำนวนมาก, เสียงกรี๊ดของคนดู,อากาศที่เปลี่ยนและทิศทางลม, Level เสียงจากนักดนตรีบางคนที่เปลี่ยนไปในข้อข้างต้น, การสะท้อน delay ผนังด้านหลังกลับมาที่ผู้เล่นของการเล่น indoor ในพื้นที่ใหญ่ ฯลฯ แต่ Sound Engineer ที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับนักดนตรีสามารถที่จะ “เผื่อ” ระดับเสียงของมอนิเตอร์ไว้ให้นักดนตรีเวลาเล่นจริงได้ใกล้เคียงครับ

ลำโพงมอนิเตอร์ในคอนเสิร์ตใหญ่ เป็นทั้งหมดที่นักดนตรีจะได้ยินจากเพื่อนร่วมทีมและวง จึงมีความสำคัญมากครับ ดังนั้นจึงมักมี Sound engineer อีกหนึ่งคนเพิ่มเพื่อมาดูแลตรงนี้โดยเฉพาะ (เพิ่มจากคนที่ดูแลเสียงลำโพง PA ของผู้ฟัง) และหากมีการถ่ายทอดออกทีวีก็มักจะเพิ่ม Sound engineer สำหรับเสียงที่ออก TV อีกคน และถ้ามีอัดแยกแทร็ก ก็จะมี Sound Engineer ที่ดูแลเรื่องการอัดด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าบางงานใช้ Sound Engineer ถึง 4 คน

monitor-board
mixing board เล็กอยู่ข้างเวที ใช้ดูแลลำโพงมอนิเตอร์นักดนตรีโดยเฉพาะ คุณผู้ฟังไม่เกี่ยว (ตัวนี้ก็ 660,000 ล่ะครับ)

ทำไมนักดนตรีจึงควรเข้าใจ flow การทำงานของ Sound Engineer

สำหรับการสื่อสารระหว่างนักดนตรีบนเวทีกับซาวส์เอ็นจิเนียร์ที่อยู่ตรง Mixing board ก็มักมี Technician ไว้คอย Support ซึ่งตรงนี้หากไม่มีหรือไม่มีงบพอสำหรับ Technician ตัวนักดนตรีแต่ละคนต้องรับผิดชอบในการหาวิธีร้องขอให้ถึง Sound Eng ให้ได้ระหว่าง Sound Check และระหว่างเล่นครับ ตรงนี้ นักดนตรีและนักร้องควรมีความเข้าใจการทำงานของซาวส์เอ็นจิเนียร์อยู่บ้างด้วย การกล่าวโทษซาวส์เอ็นจ์เวลาเสียงไม่ดีนั้นไม่ถูกต้องเสมอไปเพราะสาเหตอาจมาจากตัวเองก็ได้ เช่นนักร้องบางคนคาร์แรกเตอร์เสียงหนาไม่พุ่งแต่เรียกหามอนิเตอร์ที่ดังขึ้นควรเข้าใจ Headroom ของมอนิเตอร์ตัวเอง ควรบอกให้ลดเสียงเบสเพิ่มย่านกลางแหลมและลดเสียงเครื่องดนตรีที่มีย่าน present ลงเพื่อให้ตนเองได้ยินเสียงชัดเจนแทนที่จะเพิ่มทุกอย่างจนมอนิเตอร์รับไม่ไหว หรือควรเข้าใจข้อจำกัดของ Mixing Board รุ่นต่างๆและจำนวน monitor Aux ของ Channel ที่สามารถปรับ Equalizer ได้เป็นอิสระต่อกันเพื่อ Compromise ระหว่างประสิทธิภาพของวงและประสิทธิผลของโชว์ หรือควรเข้าใจรุ่นของตู้แอมป์ต่างๆว่าการปรับ Volumn ตรงไหนมีผลต่อสัญญาณที่ส่งออกไปหรือมีผลแค่หน้าตู้เท่านั้น ฯลฯ

และเมื่อเริ่มโชว์ไปแล้ว แม้ว่าเกิดปัญหามอนิเตอร์จะแย่มากเช่นเสียงร้องไม่ออก ก็ต้องเล่นต่อไปให้ได้ด้วยอารมณ์ที่ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้ครับ ดังนั้นแต่ละคนควรเล่น part ของตนเองได้อย่างแม่นยำโดยสามารถเป็นผู้นำวงกันได้ทุกคนโดยไม่ต้องขึ้นกับผู้อื่น ตำแหน่งเช่นมือกลองมีความสำคัญมากเพราะกลองเป็นเครื่องดนตรีที่ค่อนข้างเสียงดังที่สุดในวงและมีแนวโน้มจะไม่ได้ยินเสียงจากมอนิเตอร์ตัวเองมากที่สุด ดังนั้นมือกลองต้องเป็นผู้นำและให้ความมั่นใจต่อนักดนตรีตำแหน่งอื่นๆในวงอย่างมาก และสามารถจำ Part และตีกลองจนจบเพลงได้แม้ไม่ได้ยินเสียงอะไรจากเครื่องดนตรีคนอื่นเลยครับ นอกจากนั้น วิธีการสื่อสารให้ถึง Sound Engineer ของแต่ละคนก็มีศาสตร์และศิลป์เช่นกัน อย่างลืมว่ามีกล้อง VDO จับจ้องอยู่นะครับ

มั่นใจ ซ้อมให้ดี แล้วลุยเลยครับ

สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ก็อาศัยซ้อมกับเพื่อนบ่อยหน่อย จำ part ของตัวเองให้ดี พอถึงเวลาก็ลุยเลยครับ สะสมประสบการณ์ ผู้ฟังที่อยู่ด้านล่างบางทีเขาไม่รู้หรอกครับว่าเราเล่นหลุดตรงไหนบ้าง เขาจะรู้แต่ว่าเราเล่นได้ถึงหรือไม่ถึง ดังนั้นไม่ต้องกังวลและเล่นให้เต็มที่ครับ บางครั้งถ้าไม่มั่นใจ การดีไซน์วิธีเล่นบางอย่างอาจทำให้คลายความเครียดก่อนขึ้นเพลงได้ เช่นให้นักร้องพูดเกริ่นนำก่อนขึ้นเพลงแล้วมือกีต้าร์หรือมือคีย์บอร์ดเล่นคอร์ดวนๆ ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่อง Level ตอนขึ้นเพลงได้ครับ หรือเปิดด้วย Overture ดนตรีก่อนก็ช่วยให้สามารถแก้ปัญหา Monitor ได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเริ่มเพลงสำคัญก็ได้ครับ

ตัวอย่างความคิดเห็นและประสบการณ์

ตัวอย่าง Case study ของความผิดพลาดของตัวผมเองตอนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ลองนึกภาพตามนะครับ
การเล่นดนตรีในเวทีขนาดใหญ่ที่เขาใหญ่ ผมต้องเป็นคนเริ่มเพลงด้วยเสียงเปียโนและสตริง ไฟมืดมองไม่เห็น fader บนตัวคีย์บอร์ด ตากล้อง VDO มาจับภาพที่ผมคนเดียวส่งขึ้นจอยักษ์ซ้ายขวาของเวทีสู่สายตาผู้ชมหลายพันคน ไม่สามารถทดลองกดฟังเสียงก่อนได้ พอเล่นลงไปคอร์ดแรกปรากฏเสียง string ดังกระหึ่มจนตกใจและศิลปินหันมามองเลย ทำให้ต้องละมือหนึ่งไปปรับ fader เกิดความลนลานเนื่องจากความกดดันหลายทาง intro ก็ค่อนข้างยากและซับซ้อน เลยเล่นโน้ตผิดไป ขายหน้ามากครับ…

อีกครั้งหนึ่งคือตอนขึ้นเพลงเหมือนกัน pedal เท้าเกิดไปขัดกับแกนขาตั้งคีย์บอร์ดแบบตัวที ทำให้เหยียบ pedal ไม่ได้ ดูไม่จืดพอควรครับ ดังนั้นตัวแปรเหล่านี้ต้องขจัดให้หมดไปก่อนเล่นโดยความรับผิดชอบของเราเองนะครับเช่นต้องหาเทปแร็คซีนมายึด pedal และ expression pedal ให้ติดตายบนพื้นป้องกันไม่ได้เลื่อน เพราะคอนเสิร์ตใหญ่เมื่อมีกล้องจับจ้องใช่ว่าเราจะก้มไปทำอะไรได้ตามใจชอบ

goog
คุณกุ๊ก มือคีย์บอร์ดผู้คร่ำหวอดกับเวทีใหญ่เพราะเป็น back up ให้ศิลปินมาโดยตลอด

ผมเคยประสบปัญหาเวทีมืดมาก (คิวไฟ Black Out) ก่อนขึ้นเพลงที่ผมต้องโซโล่อินโทรครับ
ช่วงหลังๆ ผมซื้อไฟ LED แบบก้านๆ ที่ดัดงอได้แบบที่ต่อกับ USB Port แล้วเอาไปเสียบกับพอร์ท USB ของคีย์บอร์ด เดี๋ยวนี้รุ่นใหม่ๆ มักมี USB ไว้เสียบ storage เสมอ เอาไว้ส่อง Panel ของเปียโนตัวล่างครับ

สำหรับเวทีใหญ่ๆ ปัญหาการสื่อสารเป็นอันดับต้นๆ แล้วก็มีเรื่องการขอมอนิเตอร์ ผมอยากย้ำว่า ควรขอให้หนำใจก่อนจะโชว์นะครับ บางคนเกรงใจ หรือไม่กล้าขอมาก ผมแนะนำว่าอย่าไปกลัวการขอ เราไม่ผิด มอนิเตอร์เอนจิเนียร์ไม่ผิด มันเป็นเรื่องของรสนิยมของผู้เล่น ถ้าเราไม่ได้ยินสิ่งที่เราอยากได้ยิน เราอาจจะเล่นได้ไม่มั่นใจเท่าที่ควรนะครับ แล้วตอนโชว์การสื่อสารมันยากมาก ทั้งเรื่องภาพที่ไม่สวยงาม และเสียงที่ดังและไม่สามารถให้หยุดระหว่างโชว์ได้

ipattt-ihear

พัชร เกิดศิริ มือคีย์บอร์ดผู้ร่วมก่อตั้ง iHearBand ความพิเศษตรงเล่นเบสไปพร้อมเสียงอื่นๆได้ทำให้เพลงแน่นโดยใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ติดต่อวงไอเฮียร์โทร 0868965900 พัชร